วัน - เวลาทำการ :
วันจันทร์ - วันเสาร์ เวลา 09:00 - 18:00 น.
วัน - เวลาทำการ :
วันจันทร์ - วันเสาร์ เวลา 09:00 - 18:00 น.

5 แหล่งท่องเที่ยว นครหลวงพระบางประเทศลาว

5 แหล่งท่องเที่ยว นครหลวงพระบางประเทศลาว
March 31, 2022 by Wow Together Travel

     “นครหลวงพระบาง” อีกหนึ่งเมืองมรดกโลก ที่น่าเที่ยวมากๆ ของ ลาว แม้จะเป็นเมืองที่ไม่ใหญ่มากนัก แต่ก็เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ บรรยากาศเหมาะกับการมาเดินเที่ยวชิลชมเมือง ชมศิลปวัฒนธรรม ธรรมชาติที่งดงาม วัดวาอาราม แม่น้ำโขง และกลิ่นอายของประวัติศาสตร์ ถ้าได้มีโอกาสมาเที่ยวนครหลวงพระบาง รับรองจะหลงรักในเสน่ห์ของเมืองเล็กๆ แห่งนี้ เมืองนี้มีอะไรให้เราไปเที่ยวกันบ้าง ตามไปดูกันเลย

 

น้ำตกตาดกวางสี
น้ำตกตาดกวางสี

1. น้ำตกตาดกวางสี

     หรือ น้ำตกกวางสี น้ำตกที่สวยที่สุดในหลวงพระบาง มีสะพานและเส้นทางเดินชมรอบๆน้ำตกและสามารถเลาะข้างน้ำตกไปชมน้ำตกชั้นบนสามารถเล่นน้ำบริเวณลำธารได้ นอกจากนี้ยังมีของที่ระลึกที่ทางเข้าน้ำตก ซึ่งเป็นสินค้าพื้นเมืองที่ทำจากไม้ไผ่เป็นของใช้หลายชนิด และมีร้านอาหารตามสั่งให้บริการอยู่หลายร้าน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ นักท่องเที่ยวแถบยุโรปนิยมมาผจญภัยกัน

ค่าบริการ

– เสียค่าเข้าชม คนละ 10,000 กีบ (ประมาณ 40 บาท)

– โดยจะเปิดให้เข้าชม ตั้งแต่เวลา 06.00 – 17.30 น.

 

ตลาดมืด
ตลาดมืด

2. ตลาดมืด

     หรือถนนข้าวเหนียว เป็นสีสันยามค่ำคืนของเมืองหลวงพระบาง โดยถนนศรีสว่างวงศ์จะถูกแปรสภาพกลายเป็นตลาดขายของพื้นเมืองที่ชาวบ้านหลวงพระบาง หรือชนกลุ่มน้อยชาวม้ง ต่างพากันนำสินค้างานฝีมือมาวางขาย มีของหลากหลายให้เลือกซื้อ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องเงิน ผ้าลายพื้นเมือง และของที่ระลึกจากหลวงพระบาง  จำหน่ายสินค้าประเภทต่างๆ เมืองหลวงพระบางจนมีคำกล่าวที่ว่า “หากกรุงเทพฯ มีถนนข้าวสาร หลวงพระบางก็มีถนนข้าวเหนียว” เส้นทางการวางสินค้าของตลาดมืดจะเริ่มต้นที่วัดใหม่สุวรรณภูมารามบนถนนศรีสว่างวงศ์สู่ใจกลางเมือง ไปจนสุดพิพิธภัณฑ์หลวงพระบาง (พระราชวังเดิม) ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร สินค้าของที่นี่จะวางเรียงรายคล้ายๆ กัน นักท่องเที่ยวมักมาดื่มด่ำบรรยากาศ สีสัน และวิถีชีวิตแบบหลวงพระบางกันอย่างคึกคัก

เวลาในการเปิด – ปิด

– เวลา 17:00 น. เป็นต้นไป จนกระทั่งถึง 23:00 น.

 

พระบรมมหาราชวัง
พระบรมมหาราชวัง

3. พระบรมมหาราชวัง (พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ)

     ปัจจุบันถูกปรับให้เป็นหอพิพิธภัณฑ์หลวง โดยใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงโบราณวัตถุและของมีค่า เช่น บัลลังก์ ธรรมาสน์ เครื่องสูงและราชูปโภคของเจ้าชีวิต พระพุทธรูป และวัตถุโบราณ รวมถึงของขวัญจากประเทศต่างๆหอพิพิธภัณฑ์พระราชวังหรือหอคำ เดิมคือพระราชวังของเจ้ามหาชีวิตสายหลวงพระบาง จึงเรียกอีกชื่อว่า วังเจ้ามหาชีวิต สร้างเมื่อ พ.ศ. 2447 ในสมัยเจ้ามหาชีวิตสว่างวงศ์ สืบทอดต่อมาถึงสมัยเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของลาว

จุดท่องเที่ยวสำคัญ

     โรงละครพระลักษณ์-พระราม เป็นโรงละครภายในราชวัง อยู่ตรงข้ามหอพระบาง มีการแสดง พระลักษณ์ พระราม ในเวลา 18.00 น. เป็นการแสดงของนักเรียน ซึ่งจัดแสดงช่วงก่อน 11.00 น. และอีกครั้งประมาณ 13.00 น.

     หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง  ตั้งอยู่กลางเมืองหลวงพระบาง ถูกออกแบบโดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศส การผสมผสานระหว่างฝรั่งเศสและลาวภายในห้องยังมีฉากลับแลผ้าไหมปักลวดลาย ด้วยฝีมือ ประณีต และงาช้างแกะสลักอีกไม่น้อย ที่เหลือเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ภาพบุคคล บรรณาการจากต่างชาติ และ งานศิลปะมากมายและงานประดับกระเบื้องอยู่รอบๆ ตัวอาคาร

     หอพระบาง สถานที่ประดิษฐานพระบาง พระคู่บ้านคู่เมือง จึงกลายเป็นที่มาของชื่อ “เมืองหลวงพระบาง” อันหมายถึงเมืองที่มี “พระบาง” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประทานอภัย ทั้งสองพระหัตถ์ หรือปางห้ามสมุทร เป็นศิลปะสมัยขอม มีน้ำหนักประมาณ 54 กิโลกรัม ประกอบด้วยทองคำ 90 เปอร์เซ็นต์ และในหอพระนี้ยังมีพระพุทธรูปนาคปรก สลักศิลาอีกสี่องค์

ข้อปฏิบัติในการเข้าชมพระราชวังหลวงพระบาง

– ควรแต่งกายสุภาพ ควรใส่กางเกงขายาว เสื้อมีแขน หรือกระโปรงคลุมเข่า

– ถอดรองเท้าก่อนเข้าพิพิธภัณฑ์ และฝากกระเป๋าไว้บริเวณที่ฝากของตรงทางเข้า

– ห้ามถ่ายภาพข้างในพิพิธภัณฑ์

เวลาในการเปิด ปิดทำการ   มีทั้งหมด 2 ช่วง คือ

– ช่วงเช้า 8.00 น. – 11.30 น. ปิดขายบัตรเข้าชมสำหรับภาคเช้าเวลา 11.00 น.

– ช่วงบ่าย 13.30 น. – 16.00 น. ปิดขายบัตรเข้าชมสำหรับภาคบ่ายเวลา 15.30 น.

– การซื้อบัตรเข้าชม  อัตราค่าเข้าคนละ 30.000 กีบ สามารถซื้อได้ที่ทางเข้าพระราชวังหลวง

 

วัดเชียงทอง
วัดเชียงทอง

4. วัดเชียงทอง 

     ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ถือว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดของแขวงหลวงพระบาง ประเทศลาว นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไฮไลท์ของการมาเยือนเมืองมรดกโลก โดยเป็นวัดที่มีความสวยงามอลังการจนได้รับการยกย่องจากนักโบราณคดีว่าเป็นดั่ง อัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมสกุลช่างล้านช้าง ที่งดงามที่สุดในดินแดนลาวประวัติของวัดเชียงทอง วัดเชียงทองได้ถูกสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2103 โดยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ผู้ครองอาณาจักรล้านช้างและล้านนา ก่อนที่พระองค์จะย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ วัดนี้จึงถือว่าเป็น “วัดประตูเมือง”  ทำให้วัดเชียงทองได้รับการอุปถัมภ์มาโดยตลอดและที่สำคัญยังเป็นวัดเดียวที่ไม่ถูกเผาทำลายในศึกฮ่อธงดำบุกปล้นเมืองหลวงพระบาง ใน พ.ศ. 2428 สิ่งก่อสร้างที่สำคัญ เช่น พระอุโบสถ ซุ้มประตูโขง พระธาตุ หอไหว้น้อย หอไหว้สีกุหลาบ หอไหว้หลังพระอุโบสถ หอกลอง หอราชโกศเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ฯลฯ ยังคงอยู่อย่างครบถ้วน และสมบูรณ์เหมือนเดิมทุกประการ

เวลาในการเปิด ปิดทำการ    

– วัดเชียงทองเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00 น. – 17.30 น.

จุดท่องเที่ยวสำคัญบริเวณวัด 

     พระอุโบสถ (ชาวลาวเรียกว่า “สิม”) ของวัดนี้ถือว่าเป็นแบบอย่างของหลวงพระบางอันเก่าแก่ สร้างด้วยการก่ออิฐถือปูน มีโครงสร้างที่ไม่สูงนัก มีความงดงามด้วยสัดส่วนและการประดับตกแต่งต่างๆ อย่างลงตัว จนได้รับการยกย่องว่ามีความงดงามอลังการมากที่สุด เปรียบประดุจอัญมณีแห่งงานสถาปัตยกรรมของราชอาณาจักรลาวอย่างแท้จริง สิ่งที่โดดเด่นเป็นพิเศษ คือ หลังคาซ้อน 3 ตับ ลักษณะโค้งงอน และลาดต่ำลงมามากถือเป็นแบบฉบับของสิมแบบล้านช้าง ซึ่งชาวลาว เปรียบสิมหลังคาโค้งต่ำอย่างสิมวัดเชียงทอง หรืออีกหลายวัดในหลวงพระบางเป็นสิมสุภาพสตรี ส่วนสิมทรงสูงอย่างวัดทางเวียงจันทน์หรือวัดในเมืองไทยเป็นสิมสุภาพบุรุษ นอกจากนี้เพื่อป้องกันฝนสาดเข้าไปในพระอุโบสถด้วยบนกลางสันหลังคามีการทำ “ช่อฟ้า” รูปเขาพระสุเมรุ และทิวเขาสัตตบริภัณฑ์ที่ล้อมรอบ 7 ชั้น รองรับด้วยปลาอานนท์ อันเป็นรูปแบบการจำลองจักรวาลตามคติทางพุทธศาสนา เช่น เดียวกับที่ปรากฏในจิตรกรรมของล้านนาและอยุธยา ซึ่งหน้าบันของพระอุโบสถ แกะสลักเป็นรูปดอกตาเว็น หรือลายดวงอาทิตย์ ที่ดูคล้ายกับลายดอกจอกของไทย

     วิหารน้อย (หรือหอไหว้น้อย) มีหลังคาเป็นรูปใบโพธิ์ตัดครึ่ง อันเป็นรูปแบบของลาวดั้งเดิมซึ่งประดับด้วยกระจกสีงดงามมาก ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทย พระราชทานให้แก่ เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์

     หอไหว้สีกุหลาบ (สีชมพู) เป็นหอไหว้เก่าแก่ที่มีการบูรณะครั้งใหญ่โดย “ท้าวคำม้าว” เมื่อ พ.ศ. 2500 เพื่อเป็นการฉลอง 25 พุทธศตวรรษของพระพุทธศาสนา ประดับด้วยกระจกสีต่างๆ ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วปะติดปะต่อเป็นภาพเล่าเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องราววรรณกรรมชั้นเอกของลาว และเรื่องราวของวิถีชีวิตชาวบ้านทั่วไป

     ภายในมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ เนื้อสัมฤทธิ์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2112 ในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช สิ่งที่ทำให้แปลกตา คือ ช่องบรรจุพระพุทธรูปขนาดเล็กจำนวนนับพันองค์บนผนังภายในวิหารหลังนี้ เป็นเรื่องของพระอนันตพระพุทธเจ้า

     วิหารหลังใหญ่ หลังพระอุโบสถ เป็นหอไหว้เก่าแก่ที่ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ หอไหว้หลังนี้ประดิษฐานพระม่าน (พระพม่า) ที่ชาวหลวงพระบางนับถือกันมาก เนื่องจากพม่าได้เข้ามามีอิทธิพลในล้านช้างอยู่ระยะหนึ่ง ในช่วงท้ายพุทธศตวรรษที่ 21 ชาวลาวนิยมมาบนบานเพื่อขอบุตรจากพระม่านองค์นี้   นอกจากนี้ยังมีสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่มีความสวยงามอีกมากมาย เช่น หอกลอง หอราชโกศเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ (โรงเมี้ยนโกศ) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2505 หลังการสิ้นพระชนม์ของ เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ เป็นอาคารที่มีหลังคาสูง ประดับด้วยงานแกะสลักเรื่องรามเกียรติ์ งดงามมาก

     หอราชโกศ นี้ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์เก็บรักษามรดกเก่าแก่ของหลวงพระบาง เช่น ราชรถ ไม้แกะสลักปิดทอง ประดิษฐานพระโกศ 3 องค์ คือ องค์ใหญ่ตรงกลางเป็นของเจ้าศรีสว่างวงศ์ องค์เล็กด้านหลังของพระราชมารดา ส่วนองค์ด้านหน้าเป็นของพระเจ้าอา

ข้อมูลทั่วไปที่ควรรู้

     พระม่านเพี้ยน มาจากคำว่า “พม่า” เนื่องจากพม่าได้สร้างองค์พระจากทองคำเนื้อนพเก้า (ทองเนื้อเก้าคือทองที่สวยและสูงค่าที่สุด )เสร็จแล้วจึงได้นำขึ้นแพล่องแม่น้ำโขงเพื่อนำกลับพม่า แต่พอถึงบริเวณเมืองหลวงพระบาง องค์พระได้หยุดและหมุนวนน้ำ ทำยังไงก็ไม่สามารถดึงแพไปต่อได้  เจ้าอาวาสทุกวัดได้มาอัญเชิญ อุ้มท่านขึ้นจากแม่น้ำโขงแต่ก็ไม่มีวัดไหนสามารถยกขึ้นมาได้ จนกระทั่งเจ้าอาวาส “วัดเชียงทอง” มาตั้งจิตอธิษฐาน และสามารถอุ้มองค์พระขึ้นจากน้ำได้ราวปาฏิหาริย์ จึงได้อัญเชิญเข้าวัดและทำการสมโภชอย่างยิ่งใหญ่

ถ้ำติ่ง
ถ้ำปากอู

5. ถ้ำปากอู

     หรือ ถ้ำติ่งเป็นถ้ำที่ตั้งอยู่กลางภูเขาลูกใหญ่ ตั้งตระหง่านอยู่บนริมแม่น้ำโขง ห่างจากตัวเมืองหลวงพระบาง ประมาณ 29 กิโลเมตร ฝั่งตรงข้ามบ้านปากอู จุดเชื่อมของแม่น้ำสองสาย คือแม่น้ำโขงและแม่น้ำอู มาบรรจบกัน จึงเป็นที่มาของ ชื่อ “ถ้ำปากอู” แห่งนี้ วิธีการเดินทางคือ ต้องนั่งเรือไปเที่ยวชม ซึ่งสามารถขึ้นเรือได้ที่ท่าน้ำวัดเชียงทอง เป็นเรือเช่าเหมา ซึ่งจะได้ชมทิวทัศน์สองฝากฝั่งแม่น้ำโขง

 

ภายในถ้ำติ่ง
ภายในถ้ำปากอู

    ภายในถ้ำ จะมีหินงอกหินย้อยเล็กน้อย มีพระพุทธรูปจำนวนมากมายหลายขนาด ซึ่งในสมัยโบราณที่นี่เป็นที่สักการะบวงสรวงดวงวิญญาณ ผีฟ้า ผีแถน เทวดาผาติ่ง แสดงถึงยุคแห่งการปฏิวัติความเชื่อของชาวลาวในอดีตที่เคยนับถือผี มาสู่ยุคที่ พระเจ้าโพธิสารราช ทรงเลื่อมใสในพุทธศาสนา และนำศาสนาพุทธเข้ามาในแผ่นดินลาว และทรงใช้ถ้ำติ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา ที่นี่จึงมีการค้นพบพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 กว่า 2,500 องค์ และส่วนใหญ่ทำขึ้นจากไม้

ค่าบริการ

– ค่าตั๋ว – ค่าเข้าชม+ค่าเรือไป-กับ ประมาณไม่เกิน 25,000 กีบ

Powered by