วัน - เวลาทำการ :
วันจันทร์ - วันเสาร์ เวลา 09:00 - 18:00 น.
วัน - เวลาทำการ :
วันจันทร์ - วันเสาร์ เวลา 09:00 - 18:00 น.

ประเทศโปรตุเกส

ประเทศโปรตุเกส
August 21, 2019 by Wow Together Travel

ประวัติของประเทศโปรตุเกส


โปรตุเกสเป็นประเทศที่เก่าแก่มาก

ประเทศโปรตุเกส
ประเทศโปรตุเกส

        ชาติหนึ่งในยุโรป เดิมดินแดนส่วนนี้มีชื่อว่า Lusitania ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของคาบสมุทรไอบีเรีย โดยมีชนชาติต่างๆ อาทิ ไอบีเรีย โรมัน กรีซ มุสลิม และยิว ผลัดเปลี่ยนเข้ามาตั้งรกรากในดินแดนส่วนนี้มาช้านาน ก่อนที่โปรตุเกสจะ ประกาศเป็นประเทศเอกราช     

Afonso Henriques
Afonso Henriques

        ในปี 1671 (ค.ศ. 1128) ภายใต้การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช โดยมี Afonso Henriques เป็นกษัตริย์องค์แรกของโปรตุเกส ในช่วงทศวรรษที่ 15 นับเป็นช่วงปีทองของโปรตุเกส ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากทั้งทางด้านการทหาร การค้าขาย การเดินเรือ และการขยายอาณานิคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินเรือ โปรตุเกสประสบความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากความได้เปรียบทางด้านที่ตั้ง ภูมิศาสตร์ และเทคโนโลยี ความก้าวหน้าและความชำนาญในการเดินเรือ ทำให้โปรตุเกสค้นพบเส้นทางเดินเรือใหม่ๆ ผู้มีชื่อเสียงทางด้านการเดินเรือและเป็นที่รู้จักอย่างดี คือ เจ้าชาย Henry the Navigator ผู้ค้นพบทวีปแอฟริกา และนาย Vasco da Gama ซึ่งเป็นผู้ค้นพบเส้นทางเดินเรือไปยังประเทศอินเดีย จากความเจริญรุ่งเรืองทางด้านการเดินเรือ จึงส่งผลให้โปรตุเกสเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ชาติหนึ่งและมีอาณานิคมมากมายในแอฟริกา ได้แก่ แองโกล่า โมซัมบิก กีนีบิสเซา เซาโตเม ปรินซิเป และเคปเวิร์ด ในละตินอเมริกา ได้แก่ บราซิล และในเอเชีย (โปรตุเกสเป็นยุโรปชาติแรกที่เข้ามาบุกเบิกเอเชีย) ประกอบด้วย เมืองกัวในอินเดีย ลังกา มะละกา มาเก๊า และหลายเมืองในอินโดนีเซีย

        ในช่วงทศวรรษที่ 16 การปกครองของโปรตุเกสภายใต้ระบอบกษัตริย์เริ่มอ่อนแอลง ส่งผลให้สเปนซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามารุกรานและผนวกโปรตุเกสเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสเปนในปี 2123 (ค.ศ. 1580) ต่อมาในปี 2183 (ค.ศ. 1640) กลุ่มขุนนางโปรตุเกสได้รวมตัวกันกู้เอกราชกลับคืนมาจากสเปน โดยมีฝรั่งเศสให้การสนับสนุนและสถาปนาการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชขึ้นมาอีกครั้ง ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ Joao IV ของราชวงศ์ Braganza จนปี 2453 (ค.ศ. 1910) จึงได้มีการปฏิวัติล้มล้างระบอบกษัตริย์และจัดตั้งการปกครองแบบสาธารณรัฐ การเมืองโปรตุเกสได้ดำเนินอย่างไร้เสถียรภาพนับตั้งแต่นั้นมา เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร ทั้งจากฝ่ายทหารและพลเรือนมาโดยตลอด โดยรัฐบาลแต่ละชุดมักอยู่ในอำนาจได้ไม่นาน จนในปี 2469 (ค.ศ. 1926) Dr. Antonio de Oliveira Salazar เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้จัดตั้งการปกครองแบบเผด็จการฝ่ายขวาที่มีระบบรัฐสภาแต่สมาชิกล้วนเป็นฝ่ายรัฐบาล โดยได้รับอิทธิพลจากระบอบฟาสซิสต์ของอิตาลี ทำให้รัฐบาลสามารถควบคุมทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ

        ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โปรตุเกสเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติในปี 2498 (ค.ศ. 1955) โดยที่โปรตุเกสมีนโยบายไม่ยอมปลดปล่อยอาณานิคมที่มีอยู่จำนวนมาก ทุกทวีปอาณานิคมของโปรตุเกสจึงเริ่มทำสงครามกู้ชาติเพื่อปลดปล่อยตนเองตั้งแต่ปี 2504 (ค.ศ. 1961) เป็นต้นมา รัฐบาลโปรตุเกสได้ทุ่มเททรัพยากรในการทำสงครามกับดินแดนอาณานิคมเหล่านั้นเป็นเวลายาวนาน เศรษฐกิจของโปรตุเกสจึงเสื่อมโทรมลงจนมีฐานะเป็นประเทศที่ด้อยพัฒนาที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติล้มล้างระบบเผด็จการในโปรตุเกสเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2517 (ค.ศ. 1974) ส่งผลให้การเมืองภายในระส่ำระสาย อาณานิคมในแอฟริกาจึงถือโอกาสเรียกร้องและได้รับเอกราชไปในที่สุด ยกเว้นติมอร์ตะวันออกที่อินโดนีเซียเข้าไปยึดครองตั้งแต่เดือนธันวาคม 2518 (ค.ศ. 1975)

        ในปี 2519 (ค.ศ. 1976) รัฐบาลโปรตุเกสได้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีแนวทางประชาธิปไตยมากขึ้น และได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเป็นครั้งแรก ซึ่งปรากฏว่า พรรคสังคมนิยม (PS) ได้ที่นั่งในสภามากที่สุดและได้จัดตั้งรัฐบาลแบบเสียงข้างน้อย โปรตุเกสมีรัฐบาลพรรคสังคมนิยมมาจนถึงปี 2528 (ค.ศ. 1985) ซึ่งพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (PSD) ได้รับเลือกเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลเป็นครั้งแรกและคงอำนาจการปกครองยาวนานนับ 10 ปีที่ผ่านมา ระบบการเมืองโปรตุเกสขาดเสถียรภาพจากปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้น รัฐบาลโปรตุเกสชุดหลังๆ จึงเล็งเห็นประโยชน์จากการเข้าเป็นสมาชิกประชาคมยุโรป (EEC) ว่า จะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้ จึงพยายามอย่างจริงจังเพื่อให้สามารถเข้าร่วม EEC ที่สมัครไว้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2520 (ค.ศ. 1977) โดยดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดเป็นเวลา 18 เดือน ควบคุมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ส่งเสริมการลงทุนโดยกระตุ้นให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น และควบคุมเงินเฟ้อ จนสามารถปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอและเข้าร่วม EEC ได้สำเร็จเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2529 (ค.ศ. 1986)  การที่โปรตุเกสเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้สำเร็จ แต่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจด้อยกว่าประเทศสมาชิกอื่นๆ เมื่อเทียบกับในอดีตที่โปรตุเกสเคยเป็นประเทศมหาอำนาจทางทะเลและมีอาณานิคมอยู่มากมาย เหตุดังกล่าวจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ผลักดันให้โปรตุเกสริเริ่มที่จะก่อตั้งประชาคมประเทศที่ใช้ภาษาโปรตุเกส (Community of Portuguese Speaking Countries-CPLP) ขึ้นในปี 2537 (ค.ศ. 1994) ซึ่งประเทศใน CPLP ประกอบด้วยประเทศอดีตอาณานิคมของโปรตุเกสในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ (โปรตุเกส บราชิล อังโกลา โมชัมบิก กินี-บิสเชา เคปเวิร์ด เชาโตเม และปรินชิเป) และติมอร์ตะวันออก โดยโปรตุเกสได้ใช้ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านภาษา เป็นจุดเชื่อมโยงในการขยายช่องทางการค้าและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นฐานเสียงในการสนับสนุนด้านการเมืองซึ่งกันและกันในเวทีระหว่างประเทศ

Powered by